O’Connell, Daniel (1775-1847)

นายแดเนียล โอคอนเนลล์ (๒๓๑๘-๒๓๙๐)

     แดเนียล โอคอนเนลล์เป็นนักการเมือง นักกฎหมาย และนักชาตินิยมชาวไอริชที่มีบทบาทโดดเด่นในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เขาได้ฉายาว่า ผู้ปลดพันธนาการ (The Liberator) เพราะทำให้อังกฤษยกเลิกการกีดกันคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกหลายประการโดยเฉพาะการเป็นสมาชิกสภาสามัญในรัฐสภาอังกฤษเมื่อดำเนินการบรรลุเป้าหมายแรกแล้ว เขาก็จัดตั้งองค์กรขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกการผนวกไอร์แลนด์เข้ากับอังกฤษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการรวมประเทศ (Act of Union ค.ศ. ๑๘๐๐) โดยต้องการให้ไอร์แลนด์ได้สิทธิปกครองตนเองภายในประเทศ แต่การต่อสู้ของเขาในช่วงหลังไม่ได้ผลนักและชาวไอริชหัวรุนแรงเห็นว่าอ่อนข้อต่ออังกฤษมากไป ความนิยมในตัวเขาในหมู่ชาวไอริชจึงลดลง
     โอคอนเนลล์เกิดเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๗๕ ใกล้เมืองคาฮีร์ซิวีน (Cahirciveen) เคาน์ตีเคอร์รี (Kerry) ไอร์แลนด์ ในครอบครัวเจ้าของที่ดินชาวไอริชที่มั่งคั่งซึ่งมีเพียงไม่กี่ครอบครัวในสมัยนั้น เขาจึงมีโอกาสได้ไปเล่าเรียนที่วิทยาลัยคาทอลิก ๒ แห่งในฝรั่งเศสคือ ที่แซงโอเม (St. Omer) และที่ดูเอ (Douai) แต่การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution 1789)* ทำให้เขาต้องยุติการเรียนที่ดูเอและกลับบ้าน แต่ก็ได้ไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่กรุงลอนดอนจนจบและใน ค.ศ. ๑๗๙๘ ก็สอบได้เป็นเนติบัณฑิตต่อมาความปราดเปรื่องทางด้านกฎหมายและการมีวาทศิลป์ที่สามารถโน้มน้าวผู้ฟังก็ทำให้โอคอนเนลล์โดดเด่นและมักถือโอกาสใช้ศาลในไอร์แลนด์เป็นเวทีปราศรัยเกี่ยวกับประเด็นชาตินิยม หลังจากการชุมนุมที่จัดขึ้นที่กรุงดับลินต้น ค.ศ. ๑๘๐๐ เพื่อคัดค้านการรวมไอร์แลนด์เข้ากับอังกฤษ โอคอนเนลล์มีโอกาสได้กล่าวคำปราศรัย ผู้ร่วมชุมนุมก็เริ่มประจักษ์ว่าโอคอนเนลล์จะเป็นผู้นำหนุ่มคนหนึ่งของชาวไอริชคาทอลิกที่มีอนาคตก้าวไกลและเปี่ยมไปด้วยพลังในการทำงาน
     โอคอนเนลล์เป็นสมาชิกที่แข็งขันของสมาคมและสหภาพคาทอลิกหลายแห่งซึ่งมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวไอริช ประเด็นเร่งด่วนที่สุดในเวลานั้นคือ ยกเลิกกฎหมายที่กีดกันชาว คาทอลิกโดยเฉพาะการที่ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกไม่สามารถเข้านั่งในรัฐสภาอังกฤษหากไม่ยินยอมกล่าวคำปฏิญาณที่ขัดต่อความเชื่อในนิกายของตน ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๓ โอคอนเนลล์ได้ร่วมมือกับริชาร์ด เลเลอร์ ชีล (Richard Lalor Sheil) จัดตั้งสมาคมคาทอลิก (Catholic Association) ขึ้นเพื่อเรียกร้องรัฐบาลอังกฤษให้เลิกกีดกันผู้นับถือนิกายคาทอลิก และให้ยกเลิกการผนวกไอร์แลนด์เข้ากับอังกฤษ แต่ไม่ใช่การขอเอกราชโดยสมบูรณ์ โดยให้ไอร์แลนด์อยู่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษต่อไปและอยู่ใต้ประมุของค์เดียวกัน เพียงแต่ให้มีอิสระในการปกครองส่วนท้องถิ่นโอคอนเนลล์ใช้วลีที่ว่า "หนึ่งกษัตริย์ สองประเทศ" (one king, two countries) และประการสุดท้าย ขอให้มีการปฏิรูปที่ดินที่จะเอื้อให้ชาวคาทอลิกสามารถครอบครองที่ดินได้มากขึ้น สมาคมคาทอลิกที่จัดตั้งขึ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักบวช นักกฎหมาย และชาวไอริชที่มีความรู้จำนวนมากจนทำให้รัฐบาลอังกฤษไม่สามารถสกัดกั้นการก่อตั้งได้แม้จะมีกฎหมายที่ให้อำนาจปราบปรามได้ใน ค.ศ. ๑๘๒๖ โอคอนเนลล์ก็ได้จัดระเบียบของสมาคมใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมคาทอลิกใหม่ (New Catholic Association) ซึ่งสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแข่งกับผู้สมัครที่สนับสนุนโดยเจ้าของที่ดินได้สำเร็จหลายคน
     ใน ค.ศ. ๑๘๒๘ เขาตัดสินใจสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตเคาน์ตีแคลร์ (Clare) ในการเลือกตั้งซ่อมเดือนกรกฎาคมปีนั้น เขาได้รับเลือกแต่ไม่สามารถเข้าไปนั่งในรัฐสภาอังกฤษได้เพราะปฏิเสธที่จะกล่าวคำปฏิญาณขั้นต้นแต่คะแนนที่ ได้รับอย่างท่วมท้นก็ทำให้ผู้คนไม่อาจมองข้ามไปได้รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ที่มีอาร์เทอร์ เวลสลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, Duke of Wellington)* เป็นนายกรัฐมนตรีจึงตัดสินใจให้รัฐบาลอังกฤษโอนอ่อนในเรื่องนี้เพราะบรรยากาศที่ตึงเครียดในไอร์แลนด์ยิ่งเขม็งเกลียวขึ้นและรัฐบาลก็เริ่มเห็นเค้าลางของสงครามกลางเมือง ด้วยเหตุนี้ใน ค.ศ. ๑๘๒๙ ร่างกฎหมายยกเลิกการกีดกันผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกจึงผ่านความเห็นชอบของสภา (แต่กฎหมายนี้ก็ทำให้สมาชิกพรรคหลายคนขัดแย้งกับผู้นำพรรคของตนถึงขึ้นแตกหัก) ตามพระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก (Catholic Emancipation Act)* ซึ่งบ้างก็เรียกว่า พระราชบัญญัติบรรเทาทุกข์ชาวคาทอลิก (Roman Catholic Relief Act) นั้น มีการยกเลิกการกีดกันสิทธิพลเมืองคาทอลิกซึ่งปรากฏในกฎหมายที่ออกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ และอนุญาตให้พวกเขาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ได้แต่ยกเว้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ประธานศาลสูงสุด (Lord Chancellor) และข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์ (Lord Lieutenant of Ireland) อีกทั้งเพิกถอนข้อจำกัดในการครอบครองทรัพย์สินของชาวคาทอลิก (แต่กว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเปิดรับชาวคาทอลิกเข้าเรียนก็ต้องรอ ถึง ค.ศ. ๑๘๗๑ ซึ่งมีการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยศาสนาของผู้เข้าเรียนที่เรียกว่า University Religions Tests) ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ โอคอนเนลล์ก็ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาอีกครั้งหนึ่งโดยปราศจากคู่แข่งขันและสามารถเข้านั่งในรัฐสภาตามกฎหมายใหม่ ต่อมาเขาก็กลายเป็นผู้นำสมาชิกสภาสามัญชาวไอริชและได้เป็นผู้แทนราษฎรจากเคาน์ตีแคลร์ไปจนตลอดชีวิต โอคอนเนลล์ได้รับเงินอุดหนุนก้อนใหญ่รายปีเป็นเวลานานจากชาวไอริชรักชาติที่นับถือนิกายคาทอลิกซึ่งชื่นชมยกย่องเขาว่าเป็นผู้ปลดพันธนาการให้แก่พวกตนและตั้งฉายาเขาว่า "ผู้ปลดพันธนาการ"
     ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๕ โอคอนเนลล์ช่วยโค่นล้มรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมของเซอร์รอเบิร์ต พีล (Robert Peel)* ซึ่งเป็นผู้ที่เคยร่วมมือกับดุ๊กแห่งเวลลิงตันในการผลักดันพระราชบัญญัติเลิกการกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก เพราะก่อนหน้านั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนี้เขาได้ร่วมทำความ ตกลงที่ จะสนับสนุนพรรควิก (Whig Party)*ที่เรียกว่า "ข้อตกลงแห่งบ้านลิชฟีลด์" (Lichfield House Compact) ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างสมาชิกพรรควิกพวกหัวรุนแรงทางการเมือง กับนักชาตินิยมไอริชที่มีโอคอนเนลล์เป็นผู้นำ ณ บ้านพักของลอร์ดลิชฟีลด์ใน กรุงลอนดอน เพื่อโค่นรัฐบาลเสียงข้างน้อยของเซอร์ รอเบิร์ต พีล เมื่อทำสำเร็จวิลเลียม แลมบ์ ไวส์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๒ (William Lamb, 2nd Viscount Melbourne)*ิ จึงได้จัดตั้งรัฐบาลพรรควิกขึ้น โอคอนเนลล์ให้สัญญากับผู้นำพรรควิกว่าไอร์แลนด์จะไม่ก่อปัญหาใด ๆ และจะอยู่อย่างสงบ ขณะที่รัฐบาลพรรควิกก็ออกกฎหมายปฏิรูปต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาสามัญชาวไอริชจำนวน ๑๐๕ คน ในจำนวนนี้ ๔๕ คนเป็นผู้สนับสนุนโอคอนเนลล์ซึ่งเรียกว่า O’Connell’s tail หรือ Repealers พวกเขาช่วยให้รัฐบาลพรรควิกที่ค่อนข้างอ่อนแอบริหารต่อมาอีก ๖ ปี สมาชิกสภาสามัญชาวไอริชสนับสนุนรัฐบาลเมลเบิร์นในการออกพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายช่วยเหลือคนจน (Poor Law Amendment Act) ซึ่งก็ทำให้นักการเมืองหัวรุนแรงผละจากโอคอนเนลล์ อย่างไรก็ดี โอคอนเนลล์ก็สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปอื่น ๆ เช่น การจะให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ชายทุกคน การจะยกเลิกระบบทาส รัฐบาลพรรควิกก็ตอบแทนสมาชิกสภาสามัญชาวไอริชด้วยการจัดระบบการศึกษาขั้นต้นในไอร์แลนด์ การใช้กฎหมายช่วยเหลือคนจนฉบับใหม่เป็นครั้งแรกในไอร์แลนด์ และการปฏิรูประบบเทศบาลซึ่งให้สิทธิการปกครองท้องถิ่นแก่ชาวคาทอลิก แต่โอคอนเนลล์ไม่พอใจที่รัฐบาล พรรควิกยังคงเก็บภาษีศาสนา (tithes) อยู่ซึ่งทำให้ชาวไอริชคาทอลิกต้องเสียภาษีบำรุงองค์การศาสนานิกายแองกลิคัน (Anglicanism) ในไอร์แลนด์และเงินที่เก็บไปก็ใช้แต่เพื่อกิจการทางศาสนา ใน ค.ศ. ๑๘๓๙ โอคอนเนลล์จึงตระหนักว่ารัฐบาลพรรควิกก็คงไม่ทำอะไรให้ชาวไอริชมากไปกว่าพรรคอนุรักษนิยม ดังนั้น เขาจึงจัดตั้งสมาคมเพื่อการเลิกล้มการรวมอังกฤษกับไอร์แลนด์ (Repeal Association) ขึ้น
     ใน ค.ศ. ๑๘๔๑ โอคอนเนลล์ได้เป็นนายกเทศมนตรีของกรุงดับลิน ซึ่งนับเป็นชาวคาทอลิกคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ (James II ค.ศ. ๑๖๘๕-๑๖๘๘) ในช่วงนี้โอคอนเนลล์มุ่งมั่นที่จะทำให้การรวมอังกฤษกับไอร์แลนด์ที่ดำเนินมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๐๐ ยุติลง และเขียนบทความหลายบทในนิตยสาร Nation ของกลุ่มชาตินิยมเรียกร้องให้เพิกถอนการรวมประเทศและมุ่งที่จะยกเลิกการกำหนดให้นิกายแองกลิคันเป็นนิกายทางการในไอร์แลนด์ โอคอนเนลล์ เป็นผู้ปราศรัยคนสำคัญในที่ชุมนุมใหญ่หลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งสำคัญที่คลอนทาร์ฟ (Clontarf) นอกกรุงดับลินใน ค.ศ. ๑๘๔๓ แต่รัฐบาลของเซอร์รอเบิร์ต พีลซึ่งกลับมาบริหารประเทศอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๘๔๑ ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงหรือการบีบคั้นรัฐบาลในการดำเนินการทางการเมือง รัฐบาลจึงส่งกำลัง ๓๕,๐๐๐ คนไปยังไอร์แลนด์ ทำให้โอคอนเนลล์ไม่กล้าดำเนินการต่อและประกาศยกเลิกการชุมนุมที่กำหนดไว้ในวันที่ ๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ การยอมถอยครั้งนี้ของโอคอนเนลล์ก่อความผิดหวังให้ผู้สนับสนุนเขาหลายคน จึงมีผู้ผละจากสมาคมเพื่อการเลิกล้มการรวมอังกฤษกับไอร์แลนด์ ของโอคอนเนลล์ไปตั้งสมาคมชาตินิยมอื่น แต่โอคอนเนลล์ก็ถูกจับข้อหาวางแผนโค่นล้มรัฐบาลและมุ่งร้ายต่อประเทศ เขาถูกตัดสินว่ากระทำผิด ถูกปรับและจำคุกอยู่ ๑๔ สัปดาห์ เมื่อสภาขุนนางซึ่งพิจารณาคดีที่อุทธรณ์กลับคำตัดสินดังกล่าวในวันที่ ๔ กันยายน ค.ศ. ๑๘๔๔ โอคอนเนลล์ ลูกชาย และลูกน้องอีก ๕ คนจึงได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่นับตั้งแต่นั้นสุขภาพของเขาก็ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว
     อย่างไรก็ดี โอคอนเนลล์ได้กลับสู่การทำหน้าที่สมาชิกสภาสามัญอีกครั้งหนึ่งแต่บารมีของเขาลดลง มากเพราะเกิดกลุ่มการเมืองใหม่ของชาวไอริชคือ ขบวนการไอร์แลนด์หนุ่ม (Young Ireland) ซึ่งต้องการผู้นำ ชาตินิยมที่เข้มแข็งกว่าโอคอนเนลล์โดยใช้มาตรการรุนแรงในการยุติการรวมไอร์แลนด์กับอังกฤษ ขบวนการนี้จึงไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่คำนึงถึงหลักศีลธรรมจริยธรรมของโอคอนเนลล์และสมาคมที่ เขาจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เมื่อโอคอนเนลล์หวนกลับไปสนับสนุนรัฐบาลพรรควิกที่มีลอร์ดจอห์น รัสเซลล์ (John Russell)* เป็นผู้นำก็ยิ่งทำให้สมาชิกขบวนการไอร์แลนด์หนุ่มที่แข็งขันไม่สนับสนุนเขา ขบวนการนี้จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๔๑ เป็นกลุ่มชาวไอริชโปรเตสแตนต์รักชาติหัวรุนแรงที่ต้องการยุติการผนวกไอร์แลนด์เข้ากับอังกฤษเช่นกัน และตั้งชื่อตามอย่างขบวนการอิตาลีหนุ่ม (Young Italy) ที่จูเซปเป มัซซีนี (Giuseppe Mazzini)* ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๑ เพื่อการรณรงค์การรวมชาติอิตาลี ผู้นำขบวนการไอร์แลนด์หนุ่มได้แก่ ทอมัส เดวิส (Thomas Davis) ซึ่งเป็นกวี สมิท โอเบรียน (Smith O’ Brien) จอห์น ดิลลัน (John Dillon) และ จอห์น มิตเชล (John Mitchel) ขบวนการนี้ได้จัดทำนิตยสาร Nation เพื่อสนับสนุนงานด้านการเมืองโดยมีชาลส์ เกวัน ดัฟฟี (Charles Gavan Duffy) เป็นบรรณาธิการคนแรก และใน ค.ศ. ๑๘๔๗ ได้จัดตั้งสมาพันธ์ไอริช (Irish Confederation) ขึ้นเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และก็สามารถส่งชาวไอริชเข้านั่งในสภาอังกฤษได้หลายคน ดังนั้น เมื่อขบวนการไอร์แลนด์หนุ่มมีบทบาทมากขึ้นและดูเข้มแข็งกว่ากลุ่มของโอคอนเนลล์ชาวไอริชก็พากันหันมายังกลุ่มชาตินิยมกลุ่มใหม่นี้ การรณรงค์ของโอคอนเนลล์ที่จะให้ล้มเลิกการผนวกไอร์แลนด์กับอังกฤษก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ประจวบกับในช่วงนั้นไอร์แลนด์ก็เผชิญปัญหาทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ (Great Famine)* ซึ่งเกิดจากการขาดแคลนมันฝรั่งซึ่งเป็นพืชบริโภคหลักของชาวไอริช อย่างไรก็ดี โอคอนเนลล์ก็ได้กล่าวขอความช่วยเหลือให้แก่ชาวไอริชในรัฐสภาอังกฤษหลายครั้งซึ่งเป็นการอภิปรายที่สะเทือนอารมณ์ผู้ฟังมาก
     แม้โอคอนเนลล์จะดำเนินการตามเป้าหมายไม่สำเร็จ ขบวนการไอร์แลนด์หนุ่มก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ขบวนการนี้ซึ่งแตกหักกับกลุ่มของโอคอนเนลล์ ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เรื่องประเด็นการใช้ความรุนแรง มีแผนจะก่อกบฏขึ้นในไอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๔๘ แต่ผู้นำเกิดแตกร้าวกันก่อน มิตเชลถูกจับและถูกตัดสินเนรเทศเป็นเวลา ๑๔ ปี โอเบรียนก่อกบฏชาวนาขึ้นในทิปเพอเรรี (Tipperary) แต่ถูกปราบภายในไม่กี่วัน และถูกเนรเทศไปออสเตรเลียเช่นกัน แม้การต่อสู้ของขบวนการไอร์แลนด์หนุ่มจะล้มเหลว แต่นิตยสาร Nation ยังคงดำเนินงานต่อเป็นกระบอกเสียงสำคัญของการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวไอริชในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อไป
     ส่วนโอคอนเนลล์นั้นมีปัญหาสุขภาพจนน่าวิตกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ใน ค.ศ. ๑๘๔๗ เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปอิตาลีเพื่อได้รับอากาศที่ อบอุ่นและมีแสงแดด มากขึ้นในวันที่ ๑๕ พฤษภาคมปีนั้นเอง ขณะที่ กำลังจะเดินทางไปกรุงโรมเพื่อทำหน้าที่ จาริกแสวงบุญแบบ ชาวคาทอลิกด้วยการไปเฝ้าสันตะปาปา แดเนียล โอคอนเนลล์ก็ถึงแก่กรรมที่ เมืองเจนัว (Genoa) ราชอาณาจักรซาร์ดิเนียขณะอายุ๗๒ ปีข่าวการเสียชีวิตของเขาทำให้ชาวไอริชรู้สึกนิยมเลื่อมใสเขาขึ้นมา อีกครั้ง วิลเลียม แกลดสโตน (William Gladstone)* สมาชิกคนสำคัญของพรรควิกซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลายสมัยกล่าวยกย่องโอคอนเนลล์ว่าเป็นผู้นำประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกได้รู้จัก อย่างไรก็ดี ผู้สนับสนุนเขาบางคนเห็นว่าเขาควรจะได้ฉายาว่า "ที่ปรึกษา" (The Counsellor) เพราะเขาเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเคยรับตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายของ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ (William IV ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๗)* มากกว่าผู้ปลดพันธนาการอย่างที่เรียกกัน งานเขียนเกี่ยวกับโอคอนเนลล์ได้แก่ The Life and Speeches of Daniel O’ Connell, M.P. ( ค.ศ. ๑๘๔๖) ซึ่งแต่งโดยจอห์นโอคอนเนลล์ (John O’ Connell) บุตรชายของเขา และ Daniel O’ Connell, The Irish Liberator ( ค.ศ. ๑๙๓๐) โดยเดนิส โรลสตัน กวินน์ (Denis Rolleston Gwynn).



คำตั้ง
O’Connell, Daniel
คำเทียบ
นายแดเนียล โอคอนเนลล์
คำสำคัญ
- มิตเชล, จอห์น
- มัซซีนี, จูเซปเป
- เดวิส, ทอมัส
- ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่
- ดัฟฟี, ชาลส์ เกวัน
- เจนัว, เมือง
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- ชีล, ริชาร์ด เลเลอร์
- สมาคมคาทอลิก
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการรวมประเทศ
- โอคอนเนลล์, แดเนียล
- คาฮีร์ซิวีน, เมือง
- ขบวนการอิตาลีหนุ่ม
- ดิลลัน, จอห์น
- พีล, เซอร์รอเบิร์ต
- แลมบ์, วิลเลียม ไวส์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๒
- พรรควิก
- ข้อตกลงแห่งบ้านลิชฟีลด์
- เคาน์ตีแคลร์
- พระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก
- เคาน์ตีเคอร์รี
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติบรรเทาทุกข์ชาวคาทอลิก
- กฎหมายว่าด้วยศาสนาของผู้เข้าเรียน
- รัสเซลล์, ลอร์ดจอห์น
- เจมส์ที่ ๒, พระเจ้า
- สมาคมคาทอลิกใหม่
- กวินน์, เดนิส โรลสตัน
- พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายช่วยเหลือคนยากจน
- ขบวนการไอร์แลนด์หนุ่ม
- เวลสลีย์, อาร์เทอร์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน
- วิลเลียมที่ ๔, พระเจ้า
- สมาพันธ์ไอริช
- แกลดสโตน, วิลเลียม อีวาร์ต
- โอคอนเนลล์, จอห์น
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1775-1847
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๑๘-๒๓๙๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf